วงการไก่ไข่ ค้าน-หนุน 2ฟาร์ม ผลิตแม่พันธุ์เอง หวั่นไข่ยิ่งล้นตลาด

วงการไก่ไข่ ค้าน-หนุน 2ฟาร์ม ผลิตแม่พันธุ์เอง หวั่นไข่ยิ่งล้นตลาด
04 ก.ค. 2565 เวลา 11:28 น. 694

ไก่ไข่เสียงแตก หลัง “มานิจฟาร์ม-เรนโบว์ฟาร์ม” ผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้เองในประเทศ ตั้งคำถามทำได้จริงหรือ อยู่ในแผน 4.4 แสนตัวต่อปีหรือไม่ ด้านอุปนายกสมาคมไข่ไก่ตีกัน อย่าโบ้ย 2 บริษัทเป็นแพะทำไข่ไก่ล้นตลาด ชี้ช่วยปลดล็อกรายใหญ่บีบซื้อลูกไก่พ่วงขายอาหารสัตว์ได้

จากเวลานี้ไข่ไก่ล้นตลาดประมาณ 8 แสนฟองต่อวัน ส่งผลราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้แนวโน้มปรับตัวลดลง กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ 16 รายร่วมผลักดันการส่งออก เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ และเพื่อพยุงราคาในประเทศ โดยเดือนกรกฎาคมนี้มีเป้าหมายส่งออกกว่า 32 ล้านฟองนั้น

 

แหล่งข่าวผู้นำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์  (PS) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุหนึ่งที่ไข่ไก่ล้นตลาดในขณะนี้ มีรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า มีผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ มานิจฟาร์ม และเรนโบว์ฟาร์ม สามารถผลิตไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์(PS) ได้เองแล้ว โดยมานิจฟาร์ม ให้ข้อมูลว่าได้ใช้เวลาในการปรับปรุงพันธุ์ครั้งนี้ยาวนานถึง 18  ปี  ซึ่งพันธุ์ไก่ไข่ที่ได้พัฒนานี้ ให้ไข่ดก ให้ผลผลิตกว่า 320  ฟองต่อแม่ต่อปี  มีความต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรีย สามารถผลิต PS ได้ตามที่ต้องการ ในราคาไม่แพงแค่หลักร้อยบาทต่อตัว ซึ่งต้องการให้เกษตรกรได้เข้าถึงพันธุ์สัตว์ ลดปัญหาความขัดแย้ง สามารถแบ่งปันโควตาร่วมกันได้ และยินดีหากจะมีการนำไปต่อยอด

 

ในปีที่แล้วทางฟาร์มได้ขายลูกไก่จำนวนหนึ่งให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เกษตรกรพอใจ แต่พบปัญหาในเรื่องของการปรับปรุงเพศที่ยังไม่เที่ยงตรง ขอเวลาทดลองอีก 4 ปี เพื่อจะได้เพศเมีย 95% ส่วน PS มีเกษตรกรหลายคนต้องการ แต่ยังไม่ได้ขายให้ใคร นอกจากนี้ในส่วนของการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จากต่างประเทศ จะต้องขอโควตาผ่านกรมปศุสัตว์ ในกรณีของมานิจฟาร์มเป็นพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ต้องการส่งเสริมให้มีสต๊อกพันธุ์เป็นของตนเอง ไม่ต้องนำเข้าเพื่อลดปัญหาการครอบครองพันธุ์สัตว์

“หากไข่ไก่มีราคาแพงก็จะเพิ่มกำลังการผลิต แต่ถ้าไข่ไก่มีราคาถูก ก็สามารถลดกำลังการผลิตได้ สำหรับตอนนี้ยังไม่ได้ให้ GP (ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์) และ GGP (พันธุ์ไก่ไข่ที่เป็นต้นพันธุ์) แก่ใคร ล่าสุดได้มอบลูกไก่ Commercial ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อย่างไรก็ดีในการผลิตครั้งนี้ได้แจ้งกับกรมปศุสัตว์แล้ว ปัจจุบันทางฟาร์ม มี GP จำนวน 14,000 ตัว x 100 สามารถผลิต PS ได้ 1.4 ล้านตัว  ยังไม่ได้มีการจำหน่าย ยืนยันว่าไม่ต้องการแข่งขัน แต่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร”

เปิดผลดำเนินงานเงินกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่เปิดผลดำเนินงานเงินกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่

 

 

ขณะรายที่ 2 คือ เรนโบว์ฟาร์ม ระบุว่าสาเหตุที่เริ่มทำการเลี้ยง PS เนื่องจาก KCF เกษมชัยฟู๊ดประสบปัญหาพันธุ์สัตว์ไม่เพียงพอ จึงได้ให้เรนโบว์ฟาร์มทำการทดลองเลี้ยง เพื่อผลิตพันธุ์สัตว์ป้อนให้แก่ KCF เท่านั้น ไม่ได้ขายให้แก่เกษตรกร

 

นอกจากนี้ ได้ชี้แจงแผนผังการสร้างพ่อแม่พันธุ์ใก่ไข่ ซึ่งเป็นแผนการทดแทนลูกไก่ไข่จากพ่อแม่พันธุ์ ที่เป็น Commercial จำนวนแม่ไก่ Commercial ตั้งต้นสีแดง 4,000 ตัว จำนวนไก่ Commercial สีขาว 400 ตัว เปอร์เซ็นต์ไข่เฉลี่ย85% ปริมาณไข่ฟักต่อวัน 3,400  ฟอง โดยมีระยะเวลาการเก็บสะสมไข่ 14 วัน ได้ปริมาณไข่ฟักต่อชุดการผลิต 47,600 ฟอง เปอร์เซ็นต์ฟักเฉลี่ย 82% มีจำนวนลูกไก่ไข่ที่ออกทั้งหมด (Commercial PS) 39,032 ตัว

 

จำนวนลูกไก่ไข่ Commercial PS ตัวเมียสีขาว 9,758 ตัว จำนวนลูกไก่ไข่ Commercial PS ตัวผู้สีแดงที่ต้องใช้ 1,000 ตัว อัตราการสูญเสียไก่รุ่น Commercial PS ตัวเมียสีขาว 2.5% จำนวนไก่ไข่ Commercial PS ตัวเมียสีขาว เริ่มให้ผลผลิต 9,514 ตัว จำนวน 6 ฝูงต่อปี มีรอบการเข้าลูกไก่ Commercial PS ทุก ๆ 9 สัปดาห์ ดังนั้น จึงมีจำนวนแม่พันธุ์ Commercial PS = 57,084  ตัวต่อปี (9,514 x6 )

 

 

“ทางฟาร์มรายงานว่าไม่ได้มีการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร แต่ขายให้กับ KCF รายเดียว ปี 2564 ส่งมอบ layers Commercial จำนวน 3 แสนตัว มีประสิทธิภาพการผลิตประมาณ 80% ส่วนปี 2565  มีแผนส่งมอบจำนวน 7 แสนตัว ซึ่งใน 2 กรณีดังกล่าวนี้ตั้งคำถามว่า ควรอยู่ในมติของเอ้กบอร์ดที่ควบคุมปริมาณ PS นำเข้าเลี้ยงที่ 440,000 ตัวต่อปีหรือไม่”

 

ชัยพร สีถันชัยพร สีถัน

 

ขณะที่นายชัยพร สีถัน อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า การพัฒนา PS ในประเทศ อยากให้ทุกคนมองเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งการผลิต PS  ก็เพื่อดิ้นรนให้ธุรกิจอยู่รอดเพราะถูกบีบจากผู้ประกอบการไก่ไข่รายใหญ่ ที่ตัดสิทธิ ไม่ส่งลูกไก่ และไก่สาวให้ รวมถึงเร่งรัดหนี้สิน วันนี้ภาครัฐได้ทบทวนยกเลิกระบบขายพ่วงลูกไก่กับอาหารสัตว์ ยกเลิกผูกขาดการนำเข้า PS

 

ดังนั้นไม่ควรมาโยนให้ 2 ฟาร์มข้างต้นเป็นแพะรับบาปว่าเป็นสาเหตุทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด แต่ในฐานะเกษตรกรมองเป็นความหวังของวงการ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจำกัด PS แค่เพียงผู้ประกอบการ 16 รายใหญ่เท่านั้น

 

ด้านกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทั้ง 2 ฟาร์ม ยังไม่ได้อยู่ในแผนควบคุมปริมาณ PS เนื่องจากมีบางประเด็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ศักยภาพของสายพันธุ์ ผลิตได้จำนวนเท่าไร เพื่อนำมาสู่จำนวนที่จะต้องควบคุม ซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้ก่อน หากรีบตัดสินใจอาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ซื้อ รวมถึงต้องดูสายพันธุ์ว่านิ่งแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบด้าน

 

อนึ่ง กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่  มีผลการดำเนินงานซึ่งเก็บตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2563  ถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน กว่า 41.8 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเงิน 24.1 ล้านบาท ปี 2565 อนุมัติเงินกองทุนรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 2.7 ล้านบาท (อนุมัติงบ 11 พ.ย.64)

 

 

ข่าวหน้า 9  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,797 วันที่ 3-6 กรกฎาคม  พ.ศ.2565

About Author