นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ในการวางแผนและกำหนดทิศทางของวงการไก่ไข่เพื่อรักษาเสถียรภาพทั้งราคาและปริมาณการผลิต

 

ก่อนหน้านี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 กรมปศุสัตว์และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันทำกิจกรรมแก้ไขปัญหามาโดยตลอดทั้งการเพิ่มปริมาณการส่งออกไข่ไก่และการปลดแม่ไก่ยืนกรงก่อนกำหนด ส่งผลให้เสถียรภาพของการผลิตและราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 3.60 บาทต่อฟอง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 ราคาเริ่มมีแนวโน้มลดลงเหลือ 3.40 บาทต่อฟอง

สำหรับสถานการณ์ไข่ไก่ปัจจุบัน พบว่า อัตราการให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสภาพภูมิอากาศในช่วงนี้ของทุกปีเหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ไข่ ประกอบกับปัญหาสถานการณ์การค้าชายแดนทำให้ส่งออกไข่ไก่ได้น้อยลง รวมถึงการปลดไก่ไข่ก่อนกำหนดทำได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาไข่ไก่ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง มีราคาขายมากกว่า 4.00 บาทต่อฟอง ซึ่งเป็นราคาที่ดี ดังนั้นที่ประชุมร่วมระหว่างกรมปศุสัตว์กับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ได้ข้อสรุปดังนี้

 

ผลักดันการส่งออกในเดือนธันวาคม 2565 มากกว่า 60 ล้านฟอง โดยมีผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่และรายกลางให้ความร่วมมือที่จะส่งออกไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงเดือนกันยายน มีการส่งออกไข่ไก่ไปแล้ว 180.66 ล้านฟอง มูลค่า 693.48  ล้านบาท ลดกำลังการผลิตไข่ไก่ โดยมีเป้าหมายในเดือนธันวาคม กำหนดให้มีการปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนดจำนวน 1 ล้านตัว หากปลดในช่วงอายุ 65 สัปดาห์-75 สัปดาห์ ทางกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ของภาคเอกชน จะมีเงินชดเชยให้ตัวละ 10 บาท

กรมปศุสัตว์จะติดตามและอำนวยความสะดวกการปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม โดยขอความร่วมมือไปยังผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ให้ปลดไก่ไข่ไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ และสำหรับผู้เลี้ยงรายใหญ่ (100,000 ตัวขึ้นไป) ไม่เกิน 78 สัปดาห์

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีความมั่นใจ หากดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดจะส่งผลให้ราคาไข่ไก่อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อยสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์จะดูแลเกี่ยวกับระบบการเลี้ยง การจัดการ โดยผลักดันให้ฟาร์มไก่ไข่เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม (GAP) รวมถึงส่งเสริมให้มีระบบการป้องกันโรค และการเฝ้าระวังโรค หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นจะเข้าควบคุมโรคโดยเร็ว กรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการติดตามผลการดำเนินการ และเฝ้าระวังสถานการณ์การผลิตและอัตราการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศ ตามหลักการ “ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน เกษตรกรอยู่ได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.