นายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่เผย สามสาเหตุหลักในการปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มขึ้นแผงละ 6 บาท หรือฟองละ 20 สตางค์ ยืนยันไข่ไก่ยังมีเพียงพอให้ผู้บริโภคไม่ขาดตลาด ขณะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ชื่อดังเมืองแปดริ้ว เผยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ก็ยังคงไม่ขึ้นราคาก๋วยเตี๋ยว มองจะเป็นการเพิ่มภาระให้คนกิน ด้านประชาชนผู้บริโภคเผย สินค้าและอาหารขึ้นหมด ยอมรับไข่เป็นเมนูหลักของครอบครัว เปลี่ยนจากซื้อยกกระบะ เป็นซื้อครึ่งกระบะและลดไซส์ รอราคาไข่ปรับลง จึงจะซื้อเหมือนเดิม

จากกรณีที่สมาคม-สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้ประกาศปรับราคา ไข่ไก่ขึ้นแผงละ 6 บาท หรือฟองละ 20 สตางค์ ดันราคาไข่คละหน้าฟาร์มสูงถึง 3.60 บาท มีผลมาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา โดยเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปสอบถามถึงสาเหตุของการปรับขึ้นราคา จากนายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ (ดูแลภาพรวมการปรับขึ้นลงราคาไข่ไก่ทั้งประเทศ) ที่ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

นายมาโนช เปิดเผยว่า สาเหตุของการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ มีสาเหตุอยู่ประมาณ 3-4 ประการ ได้แก่ ประกาศแรก คนเลี้ยงที่ผ่านมาตั้งแต่กินเจ หลังเดือนตุลาคมมา ขายขาดทุนมาโดยตลอด จากประกาศ 4 บาท มาเหลือ 3.40 บาทแล้วขายจริงๆ พ่อค้าคนกลางก็กดราคา เหลือประมาณ 3 บาท หรือ 3 บาทกว่า อันนี้ก็เป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้คนเลี้ยงต้องปรับตัวเลี้ยงให้น้อยลงบางคนก็ต้องเลิก หรือหยุดการเลี้ยงไปบางส่วน
ประการที่ 2 คือ อากาศร้อน ปีนี้อากาศร้อนมาก คนยังแย่แล้วไก่ที่อยู่ในกรง มันก็เอาชีวิตไม่รอดเหมือนกัน จึงเป็นสาเหตุหลักทำให้เปอร์เซ็นต์ไข่ในฟาร์มลดลง โดยประมาณ 5-6%

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ กล่าวต่อว่า ประการที่ 3 คือเรื่องต้นทุน ต้นทุนแม้บางตัวมีการปรับลงมา แต่บางตัวก็มีการปรับขึ้น แล้วก็การสู้รบ ในยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญจำหน่ายไปทั่วโลก ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการขนส่งผ่านทางตะวันออกกลาง ก็มีปัญหาเรื่องค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่สูงขึ้น ในแทบจะทุกตัว ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ก็เป็นภาระของคนทำฟาร์ม คนอื่นประชาชนก็จะไม่รู้ แต่คนที่ทำฟาร์มจะรู้ ทั้งหมดเป็นไปตามสาเหตุหลักตามสามประการที่บอกไป จึงทำให้ในปัจจุบันเมื่อตัวซัพพลายมันลดลงจากการเลี้ยงที่น้อยลง กับอากาศที่ร้อนจัด จึงทำให้มีการปรับราคาไข่ไก่ขึ้น แต่การปรับราคานั้น ไม่สามารถปรับตามใจชอบได้ ต้องดูกลไกตลาด ว่าตลาดยอมรับได้ไหมสินค้าเรามีมากน้อยแค่ไหน

นายมาโนช กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นไปตามพัฒนาการของทุกปี เมื่ออากาศเริ่มผ่อนคลาย ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ถ้าเป็นไปตามภาวะปกติของทุกปี ก็น่าจะเริ่มดีขึ้น น่าจะเริ่มคลี่คลายลงมีการปรับราคาลดลง แต่ยังคงต้องฝากพี่น้องผู้บริโภคไข่ไก่ว่า ไม่ต้องกังวลใจ ไข่ไก่ไม่มีขาด

ขณะที่ น.ส.มณฑิชา อุดมศรีวัฒนา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวไข่แม่อีฟ ร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ชื่อดังของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเมนูอาหารเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ต้องมีไข่ไก่ เป็นเครื่องเคียงในเมนูต่างๆ เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่ ก็ต้องบอกว่าที่ร้านได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะเมนูอาหารส่วนใหญ่ของทางร้าน จะมีไข่ไก่ตามแต่เมนู ซึ่งร้านของตนเองต้องใช้ไข่ไก่สัปดาห์ละ 200 กระบะหรือประมาณ 6,000 ฟอง การปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งทางร้านก็ยังประคองอยู่ไม่ปรับขึ้นราคาอาหาร เพราะเป็นก๋วยเตี๋ยวหากมีการปรับขึ้นราคาอาหารลูกค้าอาจจะมองว่าแพงไป  ซึ่งทางร้านก็ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อลูกค้า ซึ่งยังหวังว่าราคาไข่ไก่ จะปรับลงตามกลไกตลาดเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ส่วน น.ส.พีรดา พูลสวัสดิ์ ประชาชนผู้บริโภค เปิดเผยว่า ถามว่าได้รับผลกระทบมากไหม ได้รับผลกระทบไม่มาก เราพอมีกำลังที่จะซื้อได้ แต่เนื่องจากว่าเราทำกับข้าวทุกวัน แล้วไข่เป็นเมนูหลัก ในแต่ละวันที่เราทำ เพราะว่าลูกสาวและคนที่บ้านชอบทานไข่ ไม่ว่าจะเป็น ไข่เจียว ไข่ดาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยสภาวะที่ทุกอย่างขึ้นหมด ทั้งน้ำมัน ผัก หมู ไก่ เราก็จำเป็นต้องเซฟบางอย่าง อย่างเมื่อเช้าไปจ่ายตลาดมา ไข่ขึ้นราคาจากที่เรายกกระบะมาเบอร์ใหญ่สุด เราก็ซอฟต์ลงไป หรือซื้อทีละครึ่งกระบะ ลดปริมาณและลดไซส์ลง เพื่อที่จะประหยัดลงไปอีกหน่อย ซึ่งตนเองก็จะดูสถานการณ์ เพราะว่าราคาไข่เมื่อมีการปรับขึ้นแล้ว แล้วจะมีการปรับลงเหมือนทุกปี ซึ่งหากปรับลงแล้วคงจะซื้อไข่ยกกระบะเหมือนเดิม.