“สมาคมไข่ไก่”เร่งส่งออกลดสต็อก หวังสร้าง“สมดุลราคา”ในประเทศ

“สมาคมไข่ไก่”เร่งส่งออกลดสต็อก    หวังสร้าง“สมดุลราคา”ในประเทศ

สมาคมไข่ไก่ฯ ชี้ไข้หวัดนกระบาดในหลายประเทศเป็นจังหวะเหมาะเร่งส่งออกเพิ่มเท่าตัว คาดจากแตะ 2 ล้านฟองต่อวัน สร้างสมดุลราคาในประเทศหลังราคาร่วงต่ำกว่าต้นทุน

ไข่ไก่ อาหารที่ให้โปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายทุกคน ขณะเดียวกันไข่ไก่ก็มีราคาถูกทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสารอาหารจำเป็นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ถูกมากไปกำลังทำให้ผู้เลี้ยงประสบปัญหา แต่ขณะนี้สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในต่างประเทศกำลังจะช่วยสร้างสมดุลราคาที่ดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศ

 

“สมาคมไข่ไก่”เร่งส่งออกลดสต็อก    หวังสร้าง“สมดุลราคา”ในประเทศ “สมาคมไข่ไก่”เร่งส่งออกลดสต็อก    หวังสร้าง“สมดุลราคา”ในประเทศ

นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนจากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตไข่ไก่ของไทยจะเจรจาเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าเดือน ก.พ.-มี.ค. 2566 ไทยจะส่งออกไข่ไก่ได้เพิ่มขึ้นจากปกติวันละ 1 ล้านฟอง เป็น 2 ล้านฟองต่อวัน เชื่อว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์ราคาในประเทศจะดีขึ้น

“ไข้หวัดนก ทำให้หลายประเทศขาดแคลนไข่ไก่และราคาสูงมาก เนื่องจากผู้ผลิตบางส่วนในประเทศดังกล่าวข้างต้น เลิกกิจการเนื่องจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดส่งออกไข่ไก่ในช่วงนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน ที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อไข่ไก่จากไทย จากที่ปกติไทยมีตลาดส่งออกหลัก คือ ฮ่องกงและสิงคโปร์”

ราคาตกทำผู้เลี้ยงเผชิญภาวะขาดทุน

สำหรับสถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในประเทศเดือนม.ค.-ก.พ. 2566 จากสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลแม่ไก่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลให้ราคาย่อตัวลงไปด้วย ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ราคาไข่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบกับภาวะขาดทุน โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาสที่ 4/2565 อยู่ที่ 3.47 บาทต่อฟอง

ทั้งนี หากมองย้อนสถานการณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าต่างประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากกว่า 30% ทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และพันธุ์สัตว์ ขณะที่ราคาไข่ไก่ไม่มีเสถียรภาพสวนทางกับต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอาจเลิกเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนไข่ไก่ในอนาคตได้ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

 

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ให้เร่งปลดแม่ไก่ยืนกรงไม่ให้มีอายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ส่วนผู้เลี้ยงรายใหญ่ 100,000 ตัวขึ้นไปไม่ให้เกิน 78 สัปดาห์ และขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด

ก่อนหน้านี้ อินเดียเตรียมส่งออกไข่มากเป็นประวัติการณ์จำนวน 50 ล้านฟอง ให้กับมาเลเซียที่ประสบปัญหาขาดแคลนไข่เฉียบพลัน เนื่องจากราคาอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง ขณะที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนไข่ไก่เนื่องจากไข้หวัดนกแพร่ระบาดใน 47 จังหวัดของประเทศ และต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายส่งไข่ขนาดกลางในกรุงโตเกียว ณ วันที่ 22 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 335 เยน หรือ ประมาณ 86 บาท ต่อกิโลกรัม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 81%

ไทยยังรอดไม่พบโรคไข้หวัดนก

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในขณะนี้ราคาไข่ไก่ปรับตัวลดลง ซึ่งกรมปศุสัตว์กำลังจับตาดูว่ามีกลไกอย่างอื่นเข้ามาแทรกหรือไม่ โดยมีความเป็นได้ที่อากาศหนาวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แม่ไก่ผลิตไข่ได้มากขึ้น เกินความต้องการที่ 40-42 ล้านฟองต่อวัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไข่ไก่ ถือเป็นอีกแนวทางที่จะสร้างสมดุลราคาไข่ไก่ในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป อีกทั้งจากต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน เบื้องต้นน่าจะแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆได้ในตลาดต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การส่งออกต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากครอปการเลี้ยงไข่ไก่มีระยะสั้น ผลผลิตออกสู่ตลาดได้เร็ว และคู่แข่งอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่า สถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยได้ อีกทั้งตามระเบียบการส่งออกแล้ว รัฐบาลต้องเป็นเจราจากับรัฐบาลประเทศผู้นำเข้าก่อน ทำให้การขยายตลาดทำได้ช้าและยุ่งยาก ปัจจุบันประเทศที่เปิดตลาดไข่ไก่ให้ไทย มีเพียง 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับกรณีที่โรคไข้หวัดนกระบาด และทำให้ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ขาดแคลนไข่ไก่เพื่อบริโภคนั้น อาจมีการเจรจาให้เปิดตลาดได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่ยังไม่มีการระบาดของไข้หวัดนก