posttoday

ธ.ก.ส.ชูต้นแบบ “รากแก้ว ฟาร์มอโกร”สู่เอสเอ็มอีมาตรฐานสากล

ธ.ก.ส.ชูต้นแบบ “รากแก้ว ฟาร์มอโกร”สู่เอสเอ็มอีมาตรฐานสากล

11 มีนาคม 2566

ใช้นวัตกรรมผลิตไข่ไก่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมนำมูลไก่ที่เหลือใช้นำไปผลิตปุ๋ย เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาถูกกว่าท้องตลาด

นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานบริษัท รากแก้ว ฟาร์มอโกร จำกัด ของนายยงยุทธ แก้วรากมุก ที่ดำเนินธุรกิจด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ผลิตและจัดจำหน่ายไข่ไก่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ พะเยา ภายใต้แบรนด์ รากแก้วฟาร์ม มากว่า 30 ปี โดยมีกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ที่ใช้ระยะเวลา 480 วัน/รอบ ในระบบ EVAP  (Evaporative Cooling System) ในโรงเรือนแบบปิด ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการผลิต ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 7 โรง ที่จุแม่ไก่ยืนกรงได้สูงสุด 265,000 ตัว

 

ธ.ก.ส.ชูต้นแบบ “รากแก้ว ฟาร์มอโกร”สู่เอสเอ็มอีมาตรฐานสากล

 

และมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการเลี้ยงและเก็บไข่ ได้แก่ เครื่องให้อาหารไก่อัตโนมัติ ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุด 280 กรัม/นาที   เครื่องเก็บไข่อัตโนมัติ กำลังการผลิต 6.88 เมตร/นาที เครื่องคัดไข่ กำลังการผลิตสูงสุด 1,000 แผง/ชั่วโมง และห้องเย็นเก็บไข่ โดยรากแก้วฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (GMP) และการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP)

 

ธ.ก.ส.ชูต้นแบบ “รากแก้ว ฟาร์มอโกร”สู่เอสเอ็มอีมาตรฐานสากล

 

ในด้านการดำเนินงานตามหลัก BCG Model เนื่องจากทางบริษัทฯ มีการใช้โรงเรือนในการเลี้ยงไก่ไข่แบบปิด จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียง และมีระบบบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยนำมูลไก่มาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ และนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทนใช้ภายในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานทดแทน และ  มูลไก่ที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าได้นำมาอบแห้งและผลิตเป็นปุ๋ย เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

 

นายมานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์ในการดูแลสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียนหรือลงทุนในการประกอบธุรกิจ

About Author