เร่งส่งออกไข่ไก่ รักษาเสถียรภาพราคา หลังอาหารสัตว์-ค่าไฟ ดันต้นทุนผลิต Q2 พุ่ง 17%

ส่งออกไข่ไก่

Egg Board รับทราบสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน ต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่พุ่ง ไตรามาส 2 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท เพิ่มขึ้น 17.46% จากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์-ยาวัคซีน ค่าน้ำ ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น เดินหน้ามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ผลักดันการส่งออก หรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด 65 ล้านฟอง

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 66) ว่าการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี 2566 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 1,970 ตัว (50.90 %) การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2566 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 147,746 ตัว (33.58 %) จำนวนไก่ไข่ยืนกรงปัจจุบัน 52.08 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.21 ล้านฟองต่อวัน

การส่งออกไข่ไก่สด ปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) จำนวน 163.53 ล้านฟอง มูลค่า 718.96 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 179.97 และ 229.98 ตามลำดับ โดยส่งออกไปสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 66 รองลงมา คือ ฮ่องกง ร้อยละ 19 (ข้อมูลกรมศุลกากร)

อภัย สุทธิสังข์

ไก่ไข่รุ่นตัวละ 175 บาท (ข้อมูล โดย บมจ.ซีพีเอฟ) ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 1/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.67 บาท โดยคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนไตรมาส 2/2565 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.46 เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ วัคซีน ยาป้องกันโรค ค่าน้ำ และค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับในปี 2566 มีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ โดยได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ภายในประเทศ โดยเชิญผู้แทนจาก 4 สมาคมไก่ไข่ 4 สหกรณ์ไก่ไข่ ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท และผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 พิจารณากำหนดมาตรการร่วมกัน และกำหนดมาตรการในปัจจุบัน ได้แก่

1) มาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัว ขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

2) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 จำนวน 65 ล้านฟอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับทราบผลการส่งออกตลาดไข่ไก่สดไปไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไข่ไก่สดไปได้หวันแล้วจำนวน 20,828,229 ฟอง (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. 66) และคาดการณ์ปี 2566 จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากประเทศไทย ไปไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดใหม่ และสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เกษตรกรจำหน่ายในประเทศได้

โดยผลสำเร็จจาการเปิดตลาดและส่งออกไข่ไก่สดครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตร และอาหารไทยที่กรมปศุสัตว์กำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ ที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดกฎหมายไทย ระเบียบของคู่ค้า และหลักสากล

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าว และมันเส้น) และปลาป่น ผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ การกำหนดมาตรการสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่ปลดไก่ไข่ยืนกรงเกินอายุที่เหมาะสม รวมถึงได้มีการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เป็นต้น