“เอลนีโญ” พ่นพิษทำอาหารสัตว์ขาดแคลน กระทบผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้นทุนพุ่ง

"เอลนีโญ" พ่นพิษทำอาหารสัตว์ขาดแคลน กระทบผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้นทุนพุ่ง

เอลนีโญ แผลงฤทธิ์ทำแล้งหนัก ทำอาหารสัตว์ออกสู่ตลาดน้อยลง และราคาสูงขึ้น ส่งกระทบต่อผู้เลี้ยงไก่ สวนทางราคาไข่ที่ราคาไม่ขยับ แถมอากาศร้อนทำต้นทุนค่าไฟพุ่ง

เอลนีโญเริ่มแผลงฤทธิ์ทำให้หลายพื้นที่เกิดภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตห่วงโซ่อาหาร ล่าสุดนายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยถึงปัจจัยภัยแล้งที่ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ฟองละ 3.75 บาท ขณะที่ราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มไม่ขยับขายได้เพียงฟองละ3.80บาทมาหลายสัปดาห์ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบภาวะขาดทุนจนทยอยเลิกเลี้ยงไปหลายราย

  •  

โดยเอลนีโญได้ส่งผลทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ มีราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก และต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วัตถุดิบขาดแคลนและการขนส่งยากลำบากจนถึงขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และธัญพืชอื่นๆยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ถือเป็นต้นทุนหลักราว 60-70% ของต้นทุนทั้งหมดทีเดียว

ปัจจัยต่อมา คือสภาวะเอลนีโญ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังส่งผลต่อธัญพืชต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคตที่จะอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีแน่นอน

อาหารสัตว์ราคาสูงขึ้นกระทบผู้เลี้ยงสัตว์อาหารสัตว์ราคาสูงขึ้นกระทบผู้เลี้ยงสัตว์

ในขณะเดียวกันต้นทุนค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้นมากจากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อนอบอ้าวต้องใช้ไฟฟ้าในการเปิดพัดลมระบายความร้อนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยข้อนี้เป็นอีกส่วนสำคัญที่ดันต้นทุนการผลิตไข่ไก่ให้สูงขึ้นไม่น้อย รวมถึง ค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นจากการหาแรงงานยากขึ้นด้วย

“ปัจจัยทั้งหมดทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่อย่างยากลำบาก ราคาประกาศไข่คละที่ 3.80 บาท ก็ตอนที่ขายจริงก็ไม่ใช่ว่าจะขายทุกฟองได้ในราคาประกาศ จึงกลายเป็นขาดทุนสะสมให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงไป ทางที่ดีควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อราคาไข่ไก่ขยับตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้นจะทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคได้ซื้อ-ขายไข่ไก่ในระดับราคาที่สมดุลเอง”

สำหรับโครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปี 2566 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย คนละไม่เกิน 10,000 บาท ที่กรมการค้าภายในดำเนินการเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นเวลา 1 เดือนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไม่เกิน 1 แสนตัวนั้น มองว่ายังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในวงกว้าง ขอเสนอให้ภาครัฐแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางโดยตรงจะช่วยเกษตรกรได้ในตรงประเด็นและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากกว่า

About Author