ไข่ไก่คอลเรสเทอรอลไม่สูง (2)
น.สพ.ดร.กิตติ ทรัพย์ชูกุล อุปนายกสัตวแพทยสภา คนที่ 1 และรองประธานโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง บอกถึงการบริโภคไข่ไก่ในผู้สูงวัยที่มักจะมีข้อสงสัยว่า จะทำให้มีปัญหาเรื่องคอเลสเทอรอลสูง
ทางการแพทย์มีคำตอบชัดเจนแล้วว่า ไข่ไก่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคอเลสเทอรอลในเลือดสูง
แต่คอเลสเทอรอลในร่างกายของคน 80% เกิดจากตับสร้างขึ้น เมื่อมีภาวะเครียดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับ การสร้างตัวของคอเลสเทอรอลจะผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คอเลสเทอรอลสูงขึ้น ผู้สูงอายุจึงสามารถบริโภคไข่ได้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ฟอง
ขณะที่ผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน สามารถบริโภคได้ทุกวัน ส่วนในกลุ่มที่มีปัญหาของโรคเหล่านี้ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานไข่วันเว้นวัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ได้เคยขีดเส้นว่าคอเลสเทอรอลที่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร คือคอเลสเทอรอลสูง แต่วันนี้ทางสหรัฐอเมริการะบุว่า ไม่ต้องมองที่ตัวเลข 200 แต่มองในเรื่องของสัดส่วนของคอเลสเทอรอลชนิดดีกับชนิดไม่ดี
วันนี้การบริโภคไข่ไก่ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยคอเลสเทอรอล 80% ร่างกายสร้างขึ้นเอง และอีก 20% คือจากอาหารที่รับประทาน ดังนั้นการบริโภคไข่ไก่จึงเป็นการเพิ่มคอเลสเทอรอลชนิดที่ดีให้กับร่างกาย
สำหรับการบริโภคไข่ไก่ที่ดีที่สุด ให้บริโภคไข่ที่สดใหม่ เพราะสารอาหารและโปรตีนยังไม่เสื่อมคุณภาพ โดยสังเกตที่วันผลิตและวันหมดอายุ หรือเมื่อตอกออกมา ไข่สดจะยังเป็นวง ส่วนไข่เก่าไข่ขาวจะเหลวเสื่อมสภาพไป
ขณะที่การซื้อไข่ในห้างสรรพสินค้าที่มีการปรับอากาศให้เย็นจะช่วยรักษาคุณภาพของไข่ไก่ไว้ให้ดีกว่าการซื้อในที่อากาศร้อน และหากต้องการเก็บไข่ให้ได้นานขึ้น แนะนำให้เก็บไข่ในตู้เย็น โดยเอาด้านป้านขึ้น เอาด้านแหลมลง ส่วนวิธีการปรุงที่ดีที่สุดของการบริโภคไข่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทางแพทย์ยืนยันว่าไข่ต้ม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 6 นาทีครึ่ง ถึง 9 นาที หากใช้เวลาต้มนานกว่านี้ จะเกิดขอบเป็นสีน้ำตาลหรือสีออกเขียว เพราะโปรตีนเสียคุณภาพไป
…
สุดท้ายนี้ การดูแลสุขภาพที่พิเศษที่สุดคือการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง และข้อสำคัญคือไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สุขภาพของเราแข็งแรง.
สะ–เล–เต