เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา ที่ อ.บ้านโป่ง เผย อากาศร้อนจัดเกิน 40 องศาฯ ทำให้แม่ไก่ไข่ทนไม่ไหว ทยอยยืนกรงตายทุกวันรวมแล้วตั้งแต่ต้นฤดูร้อนกว่า 300 ตัว ขณะที่ผลผลิตลด 30% ไข่ก็ลูกเล็กบางลูกตกไซส์ขายไม่ได้ แม้มีการขึ้นราคาไข่ที่ผ่านมา เมื่อหักต้นทุนก็แทบไม่เหลือกำไร

ผู้สื่อข่าวพบกับ นายรังสรรค์ ตู้แก้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี หลังทราบว่ากำลังประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียส ต้องจำใจเก็บซากไก่ไข่ที่ตายคากรงในทุกๆ วัน แม้จะใช้ระบบสปริงเกอร์พ่นน้ำบนหลังคา เพื่อระบายความร้อน หวังลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก

นายรังสรรค์ เปิดเผยว่า ตนเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลามาแล้ว 30 ปี ที่ผ่านมาเคยเลี้ยงไก่ไข่มากถึง 6,000 ตัวต่อโรงเรือนต่อรอบ ทำให้มีรายได้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี กระทั่งช่วงประมาณ 5 ปีก่อน ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ไหว จึงตัดสินใจลดปริมาณไก่ลง เพื่อเป็นรายได้สำหรับกินอยู่ในแต่ละวัน ขณะที่เพื่อนร่วมอาชีพหลายรายต่างทยอยล้มเลิกกิจการลง ปัจจุบันในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง เหลือฟาร์มไก่ไข่บนบ่อปลาของตนเพียงเจ้าเดียว

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันจะลดปริมาณเลี้ยงไก่ลงเหลือประมาณ 1,500 ตัว แต่ในช่วงนี้ก็กำลังประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ต้องติดตั้งสปริงเกอร์บนหลังคา เปิดระบบน้ำตั้งแต่เช้าถึงเย็น เพื่อไล่ความร้อนในโรงเรือน แต่ในช่วงกลางคืน ความร้อนยังคงอยู่ ประกอบกับสภาพอากาศปิด ไม่มีลมพัด ไก่จึงทนไม่ไหว ทยอยยืนกรงตาย ทำให้ตั้งแต่ต้นฤดูร้อนถึงปัจจุบัน ไก่ตายไปแล้วกว่า 300 ตัว

นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลผลิตไข่ไก่ก็หายไปถึงร้อยละ 30 รวมไปถึงไข่ที่ได้ขนาดก็เล็กลง จากที่เคยได้ไข่คละขนาดเบอร์ 0-2 เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือเพียง เบอร์ 3-5 บางฟองหลุดขนาดขายไม่ได้ ต้องเอาไปแจกให้คนรู้จัก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ปั๊มน้ำสปริงเกอร์ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ 1 พันกว่าบาท ปัจจุบันขึ้นไป 2 พันกว่าบาท

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการปรับราคาไข่ไก่ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หากมองในมุมของผู้เลี้ยง เมื่อหักลบต้นทุนก็แทบจะไม่เหลือกำไร เมื่อสอบถามว่า เหตุใดยังคงเลี้ยงในระบบเดิม ไม่ลงทุนทำระบบปิดที่มีเครื่องช่วยระบายอากาศ นั่นเพราะว่า การสร้างระบบดังกล่าว ต้องใช้เงินลงทุนถึงโรงเรือนละ 3 ล้านบาท นั่นหมายถึงตนต้องไปกู้ธนาคารมาทำ สุดท้ายดอกเบี้ยกินตาย.